วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

“อุบลสร้างสุขพ้นทุกข์จากเหล้า”

อดีตการทำงานรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีการขับเคลื่อนโดยองค์กรที่หลากหลาย เช่น หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา สมาคมหมออนามัย เครือข่ายพระสงฆ์ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรชุมชนต่างๆ แต่เป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เหมือนกัน แต่ขาดการเชื่อมโยง และขาดปัจจัยที่เอื้อให้ได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ส่งผลถึงภาพรวมที่แทบจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในระดับจังหวัด
ปี 2549 เครือข่ายภาคประชาสังคมได้รับการประสานจากสมาคมหมออนามัย เพื่อเข้ามามีบทบาทร่วมในการขับเคลื่อนการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ในลักษณะประชาคมงดเหล้าเป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับจังหวัด ก่อให้เกิดการถักทอเครือข่ายการทำงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น เช่น องค์กรชาวบ้าน ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และมีการจัดเวทีสาธารณะขยายวงกว้างมากขึ้น จนถึงหลังออกพรรษาหน้ากฐิน ได้เริ่มผนึกพลังร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา วัดทุ่งศรีเมือง และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขับเคลื่อนกระแสการณรงค์กฐินปลอดเหล้า จนถึงช่วงเดือนมีนาคม 2550 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มีแผนงานในการขยายประชาคมจังหวัดที่เข้มแข็งให้เพิ่มมากขึ้น และได้จัดกิจกรรม วิ่งต้านเหล้า เพื่อสนับสนุน พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในเดือนตุลาคม 2550 ได้มีเวทีในการพบปะกันของเครือข่ายต่างๆ อย่างเป็นทางการ โดยการผลักดันของ นายชวน  ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ย้ายมารับตำแหน่งใหม่ หลังจากนั้นกลุ่มแกนนำเครือข่ายต่างๆ ได้นัดประชุมหารือกำหนดเป้าหมายและแผนงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถจัดทำแผนงานร่วมกันได้ในต้นปี 2551 ทั้งนี้มีข้อเสนอร่วมกันว่าควรจะมีการประกาศแนวทางการดำเนินงานที่เป็นวาระร่วมกันของชาวอุบลราชธานี จึงเป็นที่มาของการประกาศเจตนารมณ์ อุบลสร้างสุขพ้นทุกข์จากเหล้า และมอบธงสัญลักษณ์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ที่วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี   ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่าย อกำหนดเป้าหมายและแผนงานร่วมกันอย่างสม่ำโดยการนำของ นายชวน  ศิรินันทพร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่าย 40 องค์กร ในช่วงนั้นภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดทำ โครงการท้องถิ่นประชารัฐร่วมใจแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์และอบายมุข ที่ใช้งบประมาณจากทางจังหวัดอุบลราชธานี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 5 ตำบล คือ อบต.กาบิน อ.กุดข้าวปุ้น, อบต.หนองเมือง อ.ม่วงสามสิบ, อบต.แก่งโดม อ.สว่างวีระวงศ์, อบต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร, และ อบต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร ส่งผลให้เกิดคนต้นแบบและชุมชนต้นแบบอย่างน้อย 5 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้ได้ประกาศหมู่บ้านปลอดเหล้าถาวรเพิ่มอีก 1 แห่ง จากเดิม 4 แห่ง เป็น 5 แห่ง คือ บ้านโนนดอกแก้ว ต.กาบิน อ.กุดข้าวปุ้น โดยการชี้นำจากท่านพระครูสุภกิจมงคล เจ้าอาวาสวัดบ้านโนนมะเขือ และการผนึกพลังกันของคนในชุมชนท้องถิ่น
การขับเคลื่อนกลไกระดับจังหวัด หลังจากที่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ภาคีเครือข่ายได้รวมตัวกันผลักดันให้เกิดคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดอุบลราชธานี โดยสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี มีบทบาทหลักในการประสานงานและทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการในระดับจังหวัด มีการกำหนดมาตรการใช้บังคับกฎหมาย ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน โดยได้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นแรงเสริมให้การทำงานรณรงค์รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และยังเป็นการสร้างการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาสังคม โดยมีเป้าหมายร่วมที่จะลดปัญหาและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในลดน้อยลง และช่วยป้องกันเด็กเยาวชนจากโทษภัยดังกล่าว
การทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชน มีสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นแกนประสานหลัก และได้ขยายเครือข่ายเด็กเยาวชนออกไปทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี และผลงานที่สำคัญจากพลังของเด็กเยาวชน คือการจัดงาน มหกรรมรวมพลัง อุบลสร้างสุขพ้นทุกข์จากเหล้า และ วันครบรอบการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 มีกระบวนการเฟ้นหาตัวแทนเด็กเยาวชนที่จะสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนในวงกว้างในนาม ทูตเยาวชนสร้างสุขพ้นทุกข์จากเหล้า
นอกจากนี้ ยังมีภาคีเครือข่ายอื่นๆ อีกมาก เช่น สามล้อเลิกเหล้า ที่มาร่วมขับเคลื่อนการจัดงาน บุญผะเหวดปลอดเหล้า กลุ่มเด็กเยาวชนจิตอาสาจากหมู่บ้านนาห้าง ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร และกลุ่มกองทัพมดแดง บ้านพงสว่าง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ ที่มาร่วมรณรงค์เชิญชวนผู้ปกครองให้ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนของตนเอง กลุ่มเครือข่ายชมรมคนรักสุขภาพทั้งชมรมเดินวิ่ง และชมรมนักปั่นจักรยานมากมายหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มสื่อมวลชนท้องถิ่นที่มาร่วมในการสร้างกระแสและกระจายข่าวต่างๆ ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น และในอนาคตจะมีกลุ่มองค์กรเครือข่ายอื่นๆ เข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายในนาม อุบลสร้างสุขพ้นทุกข์จากเหล้า ขยายวงกว้างออกไปอีกเรื่อยๆ